การวางเลย์งานพิมพ์หนังสือ
มีลูกค้าท่านหนึ่งสอบถามมาทางอีเมล์ว่า การวางเลย์เอาท์งานหนังสือก่อนทำเพลทนั้น มีขั้นตอนอย่างไร? และใครเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในส่วนตรงนี้และจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องใช้คนหรือเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำการเลย์เอาท์แทนเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่?
เป็นคำถามที่ถามไว้นานพอสมควร แต่ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้ตอบ ก็ต้องขออภัยท่านเจ้าของคำถามซึ่งก็ไม่รู้ว่ายังรอคำตอบหรือว่าได้คำตอบนั้นไปแล้ว
ก่อนอื่นเราต้องแยกการทำงานในขั้นตอนนี้ออกเป็น2 ส่่วนก่อน ส่วนแรกก็คือ การระบุดัมมี่เลย์ หมายถึงการระบุว่าหน้าไหนวางอยู่ตรงไหน หรืออยู่กรอบไหนซึ่งตรงนี้ในภาษาทางโรงพิมพ์หรือร้านแยกสี เรียกว่าเขียนดัมมีเลย์ ในส่วนที่ 2 ก็คือ หลังจากได้ใบดัมมี่เลย์แล้ว ในขั้นตอนการทำงานถัดไปก็คือการวางหน้าหนังสือให้ได้ตามที่ได้กำหนดในใบเลย์
ในส่วนแรกถามว่าสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงานได้หรือไม่? ขอตอบว่าสามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณได้
แต่ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งส่วนหนึ่งของขั้นตอนนี้ที่ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลก็เพราะ ในการวางเลย์ลงกรอบเพื่อทำเพลทนั้น หากคนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพิมพ์ จะสามารถวางเลย์เพื่อเซฟค่าใช้จ่ายของการผลิตลงไปได้มาก เพราะหนังสือส่วนใหญ่ในหนึ่งเล่ม มีการพิมพ์จำนวนสีที่ไม่เท่ากัน บางหน้าพิมพ์4 สี บางหน้า 2 สี บางหน้า 1 สี
และที่สำคัญความยุ่งยากของการทำดัมมี่เลย์ที่เครื่องไม่สามารถคำนวณได้แม่นยำนั้นก็คือ หน้า4 สีและ 1 สีแทรกอยู่ด้วยกัน ซึ่งการทำดัมมี่ก็ต้องมีการพลิกแพลงกันไปแล้วแต่ประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ที่รับผิดชอบ ดังนั้นก็พอจะสรุปได้คร่าว ๆว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอสำหรับหน้าที่ในส่วนตรงนี้
และในส่วนขั้นตอนถัดไป หลังจากที่มีใบเลย์และจำนวนหน้าหนังสือที่ชัดเจนแล้ว การวางเลย์เอาท์ เพื่อทำเพลทนั้น จะใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการสร้าง template เมื่อระบุเลขหน้าที่ชัดเจนในโปรแกรมแล้ว ก็สามารถรันหน้าหนังสือตามที่เรากำหนดไว้ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นขึ้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะทำการ output ไฟล์สู่เครื่องออกเพลท แต่ก่อนทำเพลทก็ต้องมีการตรวจเช็คความถูกต้องกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าหน้าหนังสือที่วางเลย์อยู่นั้นตรงกับใบเลย์เอาท์ที่กำหนดมา
ทั้งสองขั้นตอนที่ได้กล่าวมานั้น ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการทำงานและตรวจสอบทั้งหมด จำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลด้วย แต่ก็ถือว่ายังมีการพัฒนาขึ้นมาก หากเทีียบกับระบบการทำงานพิมพ์หนังสือเมื่อสิบปีก่อนย้อนหลัง ที่ส่วนใหญ่ต้องใช้แรงงานคนมากกว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์
แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตของวงการพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วส่วนของฝีมือแรงงานนั้น ก็จะค่อย ๆ หมดไปในที่สุด
ซึ่งหากท่านผู้อยู่ในแวดวงการพิมพ์มาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 15-20 ปี จะเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างชัดเจน